วัดสมณโกศฐาราม ปัจจุบันเป็นวัดที่พระสงฆ์จำพรรษาอยู่ โดยสร้างเสนะสนะอยู่ทางทิศใต้ของวัด ในจดหมายเหตุของแกมป์เฟอร์ แพทย์ชาวเยอรมัน ที่ทำงานในบริษัทอิสต์อินเดียของฮอลันดา เดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2233 ในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา ได้บันทึกไว้ว่า
ห่างจากตัวเมืองไปทางตะวันออกมีวัดที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งเรียกว่า “วัดพระยาคลัง” แผนผังที่นายแกมป์เฟอร์ เขียนประกอบไว้นั้น ปรากฎว่า เป็นวัดสมณโกฎ และวัดตรงข้ามคือวัดกุฎีดาว และระบุว่าสมเด็จประเพทราชา ได้เสด็จไปพระราชทานเพลิงศพเจ้าแม่วัดดุสิต ซึ่งเป็นมารดาของเจ้าพระยาโกษา (เหล็ก) และเจ้าพระยาโกษา (ปาน) ซึ่งเป็นพระนมของ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อ พ.ศ. 2233 ที่วัดสมณโกฎแห่งนี้ด้วย
ภายในวัดประกอบด้วยฐานพระปรางค์ จากการขุดแต่ง และภาพถ่ายจากหอจดหมายเหตุสันนิษฐานว่า เป็นรูปแบบของปรางค์ที่สร้างขึ้นในราวสมัยอยุธยาตอนกลาง ถัดออกมาทางด้านทิศตะวันออก มีวิหารขนาดใหญ่ ส่วนทางทิศตะวันตกเป็นที่ตั้งของอุโบสถ ซึ่งโบราณสถานเหล่านี้ได้สร้างทับรากฐานอาคารเดิมอันเป็นงานที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น ระหว่างพระปรางค์และพระอุโบสถมีเจดีย์ระฆังขนาดใหญ่องค์หนึ่ง สันนิษฐานว่าน่าจะมีมาตั้งแต่แรกเริ่มการสร้างวัด ตามลักษณะและลวดลายปูนปั้นที่ประทับอยู่บนบัลลังก์ จากหลักฐานทั้งหมดพอจะสันนิษฐานได้ว่า วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น และถูกบูรณะปฏิสังขรณ์ในสมัยอยุธยาตอนปลายโดยพระยาโกษาธิบดี (เหล็กและปาน) เพื่อเป็นวัดประจำตระกูล
ตำหนักสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
พระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๕ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีขาล จุลศักราช ๑๐๙๖ ตรงกับวันที่ ๑๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๒๗๗ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา มีพระนามเดิมว่า “สิน” พระราชบิดาเป็นชาวจีน ชื่อ นายไหฮอง หรือ หยง แซ่แต้ เป็นนายอากรบ่อนเบี้ย บรรดาศักดิ์ เป็น ขุนพัฒ พระราชชนนี ชื่อ นางนกเอี้ยง (ภายหลังได้รับการสถาปนาเป็น กรมพระเทพามาตย์) ทรงเป็นบุตรบุญธรรมของเจ้าพระยาจักรี
เมื่ออายุ ๑๓ ปี เจ้าพระยาจักรีนำเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็ก เมื่ออายุครบ ๒๑ ปี อุปสมบทที่วัดโกษาวาส วันหนึ่งมีชินแสได้เห็นพระภิกษุสิน และพระภิกษุทองด้วง ขณะบิณฑบาต จึงทำนายดวงชะตา พระภิกษุทั้งสองว่า บุคลิกลักษณะราศรีที่สง่างาม มีศักดิ์สูงส่ง จะได้เป็นกษัตริย์ต่อไปในภายหน้า เมื่อสึกเป็นฆราวาสแล้ว กลับเข้ารับราชการมีความเจริญก้าวหน้าโดยลำดับ พุทธศักราช ๒๓๐๒ สมเด็จพระบรมราชาที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาตาก เจ้าเมืองตาก
พุทธศักราช ๒๓๐๘ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยากำแพงเพชร เจ้าเมืองกำแพงเพชร และต่อมาเป็นพระยาวชิรปราการ มีหน้าที่ปกครองหัวเมืองทางภาคเหนือ พุทธศักราช ๒๓๑๐ กรุงศรีอยุธยาเสียกรุงครั้งที่ ๒ แก่พม่า พระยาตาก (พระยาวชิรปราการ) ได้กอบกู้อิสรภาพและเอกราชกลับคืนมาด้วยการปราบปรามและรวมรวมแผ่นดินไทยให้เป็นปึกแผ่นจากการแบ่งเป็นก๊ก เป็นเหล่า แล้วสร้างเมืองใหม่อยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยาชื่อว่า กรุงธนบุรี ต่อมาสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีมีนามว่า “กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร” และทำพิธีปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ครองกรุงธนบุรีเมื่อวันพุธ เดือนอ้าย แรม ๔ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๓๐ ปีชวด ตรงกับวันที่ ๒๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๓๑๑ ขณะมีพระชนมายุได้ ๓๔ พรรษา ทระพระนามว่า สมเด็จพระศรีสรรเพชร หรือ สมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ เสด็จสวรรคตเมื่อวันเสาร์ เดือน ๕ แรม ๙ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๔๔ ปีขาล ตรงกับวันที่ ๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๒๕ พระชนมายุ ๔๘ พรรษา รวมสิริราชสมบัติ ๑๔ ปี ต่อมาได้รับการถวายพระนามเทิดพระเกียรติ เป็น “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช”
ตรามหาเดช
เครื่องหมายแห่งชัยชนะ เป็นดวงตรา ปักไว้บนธงนำทัพของ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีรูปพญาครุฑทรงจักร อัญเชิญเพชรเปล่งรัศมี ตรงกลางของเพชรมีอุณาโลม อันหมายถึง ความสำเร็จ ความผาสุข สิริสวัสดิ์มงคง เจริญรุ่งเรือง