กองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย ภายใต้มูลนิธิฮอนด้าประเทศไทยร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สานต่อโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ลุ่มน้ำปราจีนบุรี เป็นปีที่ 4
รวมพลังจิตอาสาร่วมกันพัฒนาฟื้นฟูฝายกักเก็บน้ำในพื้นที่คลองโสม ตำบลหัวหว้า อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อรับมือกับปัญหาภัยแล้งและป้องกันวิกฤตน้ำหลาก พร้อมผลักดันให้เป็นชุมชนต้นแบบในด้านการจัดการและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำให้กับชุมชนอื่นต่อไป
ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี คุณพิบูลย์ หัตถกิจโกศล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหัวหว้าจังหวัดปราจีนบุรี คุณสุรชัย ทนสิงห์ ผู้แทนจากส่วนราชการ จิตอาสา พี่น้องชาวตำบลหัวหว้าและพื้นที่ใกล้เคียง พร้อมใจกันร่วมกิจกรรมอย่างพร้อมเพียง
นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร กรรมการผู้จัดการกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย กล่าวว่า “กองทุน ฮอนด้าเคียงข้างไทยได้จัดตั้งขึ้นภายใต้มูลนิธิฮอนด้าประเทศไทย เพื่อเป็นกองทุนฉุกเฉินในการช่วยเหลือประชาชนชาวไทยในยามประสบภัยพิบัติที่ไม่คาดคิด อีกทั้งมีเจตนารมณ์ในการสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคมมาโดยตลอด สำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ลุ่มน้ำปราจีนบุรี ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 โดยได้เชิญชวนอาสาสมัครพนักงานกลุ่มบริษัทฮอนด้า ผู้จำหน่าย สื่อมวลชนและชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่น ร่วมกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ในพื้นที่คลองโสม ตำบลหัวหว้า อำเภอศรีมหาโพธิ ด้วยการสร้างฝายหินก่อ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ทางการเกษตรและการอุปโภคบริโภค รวมถึงการปลูกหญ้าแฝกและพันธุ์ไม้ท้องถิ่นเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งและป้องกันวิกฤตน้ำหลากให้แก่ชุมชนจากการดำเนินโครงการในปีนี้ คาดว่าจะมีพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์กว่า 226 ไร่ ครอบคลุม 2 หมู่บ้าน รวม 68 ครัวเรือน”
ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า “มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. ร่วมดำเนินงานกับกองทุนฮอนด้าเคียงข้างไทย รวมทั้งองค์การบริหารส่วนตำบลหัวหว้าและชุมชน ได้น้อมนำแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงแหล่งน้ำพื้นที่คลองโสม คลองเส้นหลักของตำบลหัวหว้า อำเภอศรีมหาโพธิ พื้นที่ประสบปัญหา น้ำท่วมและภัยแล้งเป็นเวลานาน เนื่องจากแหล่งน้ำมีความตื้นเขินและถูกปกคลุมด้วยวัชพืช ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้ตลอดทั้งปี จึงต้องได้รับการบริหารจัดการด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อให้แหล่งน้ำมีประสิทธิภาพในการกักเก็บและสำรองน้ำได้มากขึ้น รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ ซึ่งเป็นแนวทางในการดำเนินงานเพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว อันจะนำไปสู่การพัฒนาแหล่งน้ำอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งเป็นต้นแบบการจัดการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำให้กับชุมชนอื่นต่อไป”