วัดพระงามหรือวัดชะราม ตั้งอยู่นอกเกาะเมืองอยุธยาทางด้านทิศเหนือ บริเวณทุ่งขวัญ วัดหันหน้าไปทางด้านทิศตะวันออก มีเจดีย์แปดเหลี่ยมเป็นประธานของวัด ด้านหน้าหรือด้านทิศตะวันออกของเจดีย์ประธานเป็นอุโบสถ มีกำแพงแก้วและคูน้ำล้อมรอบวัด สิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในวัดมีร่องรอยการบูรณปฏิสังขรณ์มาแล้วหลายครั้ง
วัดพระงามไม่ปรากฏหลักฐานในเอกสารว่าสถาปนาขึ้นในปีใด แต่มีปรากฏในโครงบทที่ 23 ของนิราศนครสวรรค์ซึ่งเชื่อว่าแต่งขึ้นในสมับสมเด็จพระนารายณ์ ได้เอ่ยถึงวัดแห่งนี้ แต่จากการศึกษาทางด้านโบราณคดีสามารถสรุปได้ว่า วัดนี้สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นและถูกทิ้งร้างไปเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310
เจดีย์ประธาน The Principal Stupa
เป็นเจดีย์แปดเหลี่ยม ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆัง ที่องค์ระฆังค่อนข้างสอบเพรียว ตั้งอยู่บนฐานแปดเหลี่ยมทรงสูง ลักษณะของเจดีย์แบบนี้เป็นรูปแบบของเจดีย์ที่นิยมสร้างกันในช่วงก่อนการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2112)
อุโบสถ The Ordination Hall (Ubosot)
เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง 15 เมตร ยาว 34 เมตร มีมุขยื่นออกมาทั้งด้านหน้าและด้านหลัง มีประตูทางเข้าที่ด้านหน้าและด้านหลังด้านละ 2 ประตู มีฐานชุกชีสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของอาคาร จากการศึกษาทางโบราณคดีพบว่า อุโบสถนี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาแล้วหลายครั้ง
ไฮไลท์สําคัญอยู่ที่ซุ้มประตูทางเข้า ที่มีต้นโพธิ์ขึ้นปกคลุมซุ้มประตู แลดูคล้ายกับการเดินผ่านข้ามกาลเวลาย้อนกลับไปในอดีด จึงเป็นจุดดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเช็คอินที่นี่ “ประตูแห่งกาลเวลา” วัดพระงาน คลองสระบัว จังหวัดอยุธยา