นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมยานยนต์ ถือเป็น 1 ใน 3 เสาหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย จนกลายเป็นฐานการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกไปทั่วโลกด้วยการมีโปรดักส์ แชมเปี้ยน เช่น รถกระบะ รถอีโคคาร์ โดยในปี2565 ประเทศไทยมีการผลิตยานยนต์รวม 1.9 ล้านคัน อยู่อันดับที่ 10 ของโลก และอันดับ 1 ของอาเซียน มีมูลค่าส่งออกรวมประมาณ 1.07 ล้านล้านบาท ที่สำคัญคืออุตสาหกรรมยานยนต์ มีลักษณะที่โดดเด่นคือมีซัพพลายเชนด้านชิ้นส่วนที่เข้มแข็งและขยายวงกว้างอยู่ทั่วประเทศ
“ปัจจุบันแบรนด์รถยนต์รายใหญ่ ๆ ล้วนมาตั้งโรงงานผลิตและประกอบรถยนต์ในประเทศไทยโดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางยานยนต์ของภูมิภาคส่งผลให้อุตสาหกรรรมยานยนต์มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยทั้งด้านการลงทุน การจ้างงาน การสร้างมูลค่าเพิ่ม และการส่งออกอย่างไรก็ตามข้อมูลสถิติล่าสุดชี้ให้เห็นว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยถึงจุดอิ่มตัวแล้วนั่นก็คือในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ปริมาณการผลิตยานยนต์ค่อนข้างคงที่ไม่เกิน 2 ล้านคัน แบ่งเป็นขายในประเทศเกือบ 1 ล้านคัน ที่เหลือส่งออก นอกจากนี้ยังเผชิญกับกระแสการเปลี่ยนแปลงต่างๆทั้งการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี เช่น การขับขี่อัตโนมัติ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งทั่วโลกมีเป้าหมายร่วมกันที่จะลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) ซึ่งนำมาของกระแสรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV)”
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายต่าง ๆเหล่านี้ ล้วนส่งผลต่อทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยและโลกในอนาคต ปัจจุบันจึงเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ และคงไม่มีใครปฏิเสธว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตยานยนต์ที่มีประสิทธิภาพปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางตลาดโลก ดังนั้นในเวลานี้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน ที่จะปลุกให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยที่เป็นเสือหลับให้ตื่นกลับมายืนฉายแสงในภูมิภาคอีกครั้ง ดังนั้นต้องกำหนดยุทธศาสตร์ทั้งระบบ เพื่อให้ไทยยังรักษาฐานการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต โดยเฉพาะทันกระแสของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่โตก้าวกระโดดและไม่ตกจากเวทีโลก
ที่ผ่านมารัฐบาลได้กำหนดให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายสอดรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 มีการตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติหรือ บอร์ด EV ซึ่งปัจจุบันมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเองเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลกเป้าหมายการผลิตและการใช้ยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ในปี 2573 หรือที่เรียกว่า “แผน30@30” คือการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573หรือปี 2030
สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า มีมูลค่าการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ แบ่งตามประเภทรถยนต์ดังนี้ รถยนต์ไฮบริด มูลค่าส่งเสริมการลงทุนประมาณ 30,000 ล้านบาท รถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด มูลค่า 10,000 ล้านบาท และรถยนต์ไฟฟ้า มูลค่า 40,000 ล้านบาท และในปี 2567 มีหลายบริษัทเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ด้วยมาตรการสนับสนุนการใช้รถไฟฟ้าช่วยผลักดันให้ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ในปี 2566 สูงถึง 76,000 คัน สอดคล้องกับมติ ครม. รัฐบาลชุดนี้เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 หรือ มาตรการ EV3.5 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญให้เติบโตต่อเนื่อง
"สิ่งที่กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่น คือ การขับเคลื่อนแผน 30@30 ในส่วนของการผลิตที่เหลืออีก 70% คือการพัฒนาการผลิตยานยนต์สันดาปภายใน (ICE) ซึ่งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติได้เห็นชอบมาตรการในช่วงเปลี่ยนผ่านด้วยการส่งเสริมการผลิต รถยนต์ ICE ให้เปลี่ยนผ่านไปรถยนต์กึ่งไฟฟ้าได้แก่รถยนต์ไฮบริด และรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด ซึ่งมีการใช้ชิ้นส่วนคล้ายกับรถยนต์ไฟฟ้าล้วน (BEV) เช่น แบตเตอรี่ มอเตอร์ไฟฟ้า และมีเครื่องยนต์หรือมอเตอร์ไฟฟ้าเป็นทางเลือก ช่วยลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยมลพิษได้มากขึ้น รวมทั้งการขยายสิทธิประโยชน์ภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์ประหยัดพลังงาน
อย่างไรก็ ตามกระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมเป็นหน่วยงานหลัก มุ่งให้เกิดการพัฒนาสู่การเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้ยานยนต์พลังงานสะอาดและพร้อมก้าวเดินไปพร้อมกับภาคเอกชน ในขณะเดียวกันก็ยังส่งเสริมให้อุตสาหกรรมยานยนต์เดิมให้ยืนหยัดในการพัฒนายานยนต์เดิมให้สะอาดและประหยัดขึ้น รวมทั้งการบูรณาการความร่วมมือของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อผนวกกับศักยภาพของประเทศไทย ความพร้อมของปัจจัยพื้นฐานต่าง ๆทั้งในเรื่องของสิทธิประโยชน์การลงทุน ระบบโครงสร้างพื้นฐาน เชื่อว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะกลับมาเป็นเสือตื่นและผงาดอยู่ในท็อปเทนของฐานการผลิตยานยนต์โลกได้อีกครั้ง
นายสุวัชร์ ศุภกาญจน์เดชากุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต็ไทย (TAIA) ได้ขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมจัดสรรพื้นที่พิเศษ เพื่อสนับสนุน การสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ รถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง เพื่อดึงดูดแบรนด์รถยนต์ มาตั้งฐานการผลิตโรงงานแบตเตอรี่ในเขต EEC ในประเทศไทย
ทางด้านภาคเอกชน นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่ายอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ จากกรมการขนส่งทางบก ในปี 2566 เพิ่มขึ้นจาก 20,816 คัน (ปี 2565) เป็น 100,219 คัน หรือเติบโต 380% สำหรับยอดสะสมในปี 2566 เพิ่มขึ้นทุกประเภท อย่างไรก็ตาม ทางด้านผู้ประกอบการหลายรายได้คาดการณ์ว่าปีนี้ยานยนต์ไฟฟ้าจะเติบโตเท่าตัวเทียบกับปีที่ผ่าน เนื่องจากมีการเปิดตัวรถอีวีรุ่นใหม่อย่างหลากหลาย ประกอบกับมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาเล่นในตลาดเพิ่มมากขึ้นไม่น้อยกว่า 5 ราย ซึ่งเป็นรายใหม่ที่ไม่เคยเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยเลย ล้วนเป็นปัจจัยบวกที่จะทำให้รถอีวีเติบโตได้อีกครั้ง
นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าตลาดรถยนต์ในปี 2023 ติดลบ 74,164 คัน หรือลดลง 9% เมื่อเทียบกับปีก่อนเนื่องมาจากยอดขายที่ลดลงอย่างมากของรถกระบะ และบางส่วนจากรถยนต์ในกลุ่มอีโค่คาร์ และบี-เซกเมนต์, พีพีวี และดี-เซกเมนต์ รถบรรทุกและรถ โดยสารขนาดใหญ่ ปีที่ผ่านมายอดขายรถยนต์นั่งโดยรวมเพิ่มขึ้น เล็กน้อย ส่วนใหญ่มาจากรถยนต์ไฟฟ้าที่มียอดขายเพิ่มสูงขึ้น.